หลักการและเหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เอาไว้ในหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 บัญญัติให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการ ให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อ ประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด โดยในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนไว้ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 5 บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม มาตรา 10 บัญญัติให้กรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว และการเปิดเผยข้อมูลต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ และมาตรา 11 บัญญัติให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์คือ พัฒนาอีสานสู่มิติใหม่ให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง” เน้นแก้ไขปัญหาพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาการวิจัยเพื่อใช้ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในภาค ให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการแสวงหาโอกาสการนำความรู้ ทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภายนอกมาช่วยขับเคลื่อน มีเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของภาค ในปี 2562-2565 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราขั้นปลาย และศูนย์โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมหนองคาย อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ และโลจิสติกส์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ของภาคส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ตามเมืองหลัก อาทิ จังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา สำหรับโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมยังอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และสิ่งทอเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และเป็นฐานสร้าง รายได้ใหม่ให้กับภาค นอกจากนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 15 จังหวัด มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีการจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 71 บริษัท ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลเหล่านี้จะทำให้เกิดฝุ่นละออง สร้างความระคายเคืองและส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
จากกกระบวนการพัฒนาตามทิศทางดังกล่าวและบทเรียนหลายกรณีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ทำให้ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ภาคี/เครือข่ายภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคมเครือข่ายภาคเอกชน ที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการพัฒนางาน การประเมินผลด้านสุขภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเครือข่าย ศูนย์วิชาการ งานวิจัย และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เอื้อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม โดยการพัฒนาศักยภาพคนและการจัดการความรู้ งานวิจัย การสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ อย่างต่อเนื่องและชัดเจน เพื่อให้เกิดการพัฒนางานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย จำเป็นจะต้องสร้างความพร้อมในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านกำลังคนที่มีศักยภาพ
มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นร่วมกันว่าควรจะมีความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาศักยภาพคน การวิจัย และการจัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้วยเป็นสถาบันวิชาการหลักที่สำคัญในภูมิภาค มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ อีกทั้งเป็นฐานสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขที่จะไปมีบทบาทในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพให้กับประชาชน จึงสามารถเป็นหน่วยตั้งต้นในการประสานงานและอำนวยกระบวนการให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายวิชาการด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาศูนย์วิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
2. เพื่อพัฒนาเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. เพื่อสนับสนุนการใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะ การป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพจากอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
4. เพื่อกำหนดประเด็นและพัฒนาโครงการวิจัยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Research Package HIA) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5. เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum)